โรงพยาบาลบางระกำ + Bangrakam Hospital
055-371168 หรือ 055-371170


โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด



โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด เกิดเนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมน อินซูลินได้อีกต่อไป


จึงมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า insulin-dependent diabetes


 นานาสาระของโรคเบาหวานชนิดที่ 1


ในประเทศสหราชอาณาจักร พบอุบัติการณ์ของเบาหวานทั้งชนิดที่ 1 และ 2 รวมกันประมาณ 2.6 ล้านคน โดยมีเพียง 1 ใน 10 ที่จะเป็นเบาหวานชนิดที่ 1 โรคนี้สามารถเกิดได้ทุกช่วงอายุ แต่มักเกิดในคนที่อายุน้อยกว่า 40 ปี


ดังที่ได้กล่าวในตอนต้นว่า โรคเบาหวานชนิดที่ 1 เป็นโรคที่เกิดขี้นเนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลินได้อีกต่อไป หน้าที่ของอินซูลินคือเป็นฮอร์โมนหลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด


โดยทั่วไปเมื่อเรารับประทานน้ำตาล กลูโคสซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักในอาหารและเครื่องดื่มจะถูกย่อยและดูดซึมในลำไส้ หลังจากนั้นจะถูกเปลี่ยนเป็นพลังงานให้กับร่างกายต่อไป


ตับอ่อนซึ่งวางตัวอยู่หลังกระเพาะอาหาร เป็นอวัยวะที่ทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน เมื่อฮอร์โมนอินซูลินมีระดับลดลงจะทำให้ระดับน้ำตาลมีค่าที่สูงขึ้น และทำให้เกิดโรคเบาหวานตามมา


ชนิดของเบาหวาน


สามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิด ได้แก่ ชนิดที่ 1 และ 2 โดยพบเบาหวานชนิดที่ 1 เพียง 5-10 รายในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด


อาการของเบาหวานชนิดที่ 1


ได้แก่


ปัสสาวะบ่อย
หิวน้ำบ่อย
น้ำหนักลดลงโดยไม่ทราบสาเหตุ
มีอาการอ่อนเพลียง่าย
การมองเห็นลดลง
โดยอาการดังกล่าวมักจะเกิดขึ้นในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ ถ้าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์


ภาวะแทรกซ้อนของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1


ได้แก่ ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป (hyperglycemia) หรือ ต่ำเกินไป (hypoglycemia)


ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดสูง (hyperglycemia)


สามารถเกิดได้เมื่อผู้ป่วยมีภาวะเครียด เจ็บป่วย ขาดยา insulin หรือขนาดยา insulin ที่ใช้อยู่ไม่เพียงพอ เมื่อเกิดภาวะนี้ขึ้นจะส่งผลให้ผู้ป่วยเกิดอาการ หิวน้ำบ่อย เหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย
ภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและรุนแรง ของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 คือภาวะ diabetic ketoacidosis หรือเรียกย่อๆ ว่า DKA โดยผู้ป่วยจะมีอาการ อาเจียน หายใจเร็ว และหอบลึก ในบางครั้งจะได้กลิ่นลมหายใจเป็นกลิ่นของสารคีโตน (ketone) หรือกลิ่นน้ำยาทาเล็บ ภาวะนี้เป็นภาวะฉุกเฉิน ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีเนื่องจากสามารถทำให้เสียชีวิตได้
สำหรับภาวะแทรกซ้อนระยะยาวเมื่อมีระดับน้ำตาลสูง ได้แก่
ภาวะไตเสื่อมเรื้อรัง
ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ
การมองเห็นลดลง
โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ
โรคอัมพาต
ภาวะระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ (hypoglycemia)


ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคล้ายจะเป็นลม เหงื่อออกมาก สับสน ใจสั่น การรักษาในเบื้องต้นคือการให้ทานสารที่มีรสหวานเช่น ลูกอม น้ำอัดลม หรือขนมปัง ถ้ารักษาไม่ทันท่วงทีสามารถทำให้หมดสติหรือเสียชีวิตได้


สาเหตุของเบาหวานชนิดที่ 1


เบาหวานชนิดที่ 1 เกิด เมื่อเซลล์ตับอ่อนชนิด beta (beta cell) ซึ่งทำหน้าที่ในการสร้างฮอร์โมนอินซูลิน ถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยยังไม่ทราบชัดเจนว่าเหตุใดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายจึงสร้างภูมิต้านทานมาทำลายเซลล์ตับอ่อนของตัวเอง


การวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 1


เริ่มจากแพทย์ทำการซักประวัติ และการตรวจทางห้องปฏิบัติการได้แก่
การตรวจปัสสาวะ เพื่อตรวจหา สารกลูโคสหรือคีโตนที่รั่วออกมาในปัสสาวะ
การตรวจเลือด ที่เรียกว่า fasting blood glucose โดยการงดน้ำและอาหารก่อนการเจาะเลือด
ถ้าตรวจพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของน้ำตาลมากกว่าเกณฐ์มาตรฐาน สามารถให้การวินิจฉัยได้


เมื่อตรวจพบภาวะเบาหวานชนิดที่ 1 ผู้ป่วยควรจะไปพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญต่อไป


การรักษา


ถึงแม้ว่ายังไม่มีการรักษาใดที่ทำให้ ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 1 หายขาดได้ แต่เราสามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฐ์ปกติได้โดยการ ปรับเปลียนพฤติกรรมการทานอาหาร ออกกำลังกาย และการใช้ยา


การใช้ยา


เราใช้ยา insulin เป็นยาหลักในการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เราสามารถบริหารยา อินซูลิน ได้ 2 ทาง ได้แก่
การฉีดยา วิธีนี้เป็นวิธีที่นิยมมากสุด โดยการฉีดยาอินซูลินเข้าที่ขั้นใต้ผิวหนังก่อนมื้ออาหาร
การใช้เครื่อง insulin pump วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถคุมระดับน้ำตาลได้ เมื่อทำการฉีดยาเป็นครั้งๆ เครื่อง insulin pump จะถูกกำหนดให้ปล่อยยาในอัตราที่สม่ำเสมอและต่อเนื่อง
การดูแลตัวเอง


การควบคุมระดับน้ำตาลสามารถทำได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ดังนี้
ทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ 3 มื้อต่อวัน ถ้าผู้ป่วยเกิดภาวะน้ำตาลต่ำบ่อยๆ ควรจะมีลูกอม พกติดตัวไว้
ควรออกกำลังกายอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ และอย่างน้อย 10 นาทีต่อครั้ง
การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ควรจะไม่เกินจากที่แนะนำ
ควรงดสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาโรคหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ และสมองตีบ
ในบางโรงพยาบาลจะมีโปรแกรมที่เรียกว่า DAFNE (dose adjustment for normal eating) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่ช่วยสอนการปรับขนาดยาอินซูลิน


การตรวจติดตามระดับน้ำตาล


ผู้ป่วยสามารถตรวจติดตามระดับน้ำตาลของตนเองได้โดยใช้เครื่องตรวจขนาดเล็ก ที่เรียกว่า home test kit โดยใช้เข็มขนาดเล็กเจาะเลือดจากปลายนิ้ว หยดเลือดลงบนแผ่นตรวจและใส่แผ่นตรวจเข้าไปในเครื่องอ่าน


ระดับน้ำตาลที่เหมาะสม
ก่อนอาหารอยู่ที่ 72-126 mg/dl (4-7 mmol/L)
หลังอาหารอยู่ที่ น้อยกว่า 162 mg/dl (9 mmol/L)
ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ ถึงความถี่ในการตรวจติดตามระดับน้ำตาลในเลือด


นอกจากการตรวจติดตามระดับน้ำตาล ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจหาระดับน้ำตาลสะสม ( HbA1C) อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ระดับน้ำตาลสะสมนี้จะบ่งบอกถึงระดับน้ำตาลในช่วงระยะเวลาย้อนหลังไป 2-3 เดือน


 


ขอบคุณบทความดีๆจาก : http://www.bupa.co.th