โรงพยาบาลบางระกำ + Bangrakam Hospital
055-371168 หรือ 055-371170


โรคท้องผูกอาการของท้องผูก


                          


ท้องผูก
อุปนิสัยการขับถ่ายอุจจาระของแต่ละบุคคลอาจมีความแตกต่างกัน


เช่น บางคนถ่ายอุจจาระวันหนึ่งหลายครั้ง บางคนอาจถ่ายอุจจาระวันเว้นวัน ถือเป็นเรื่องปกติของแต่ละคน แต่การขับถ่ายจะเป็นปัญหาถ้าหากมีการเปลี่ยนแปลงใน 2 สิ่งที่สำคัญ คือ จำนวนครั้ง-ความถี่ของการขับถ่ายเปลี่ยนไป และ/หรือการขับถ่ายมีความยากลำบากขึ้น


อาการของท้องผูก


อาการสำคัญของท้องผูก ได้แก่ ปวดเมื่อขับถ่ายอุจจาระ หลังจากถ่ายอุจจาระแล้วรู้สึกเหมือนยังมีอุจจาระคั่งค้างอยู่ อุจจาระยากขึ้นและ/หรือเป็นก้อนแข็ง ก้อนอุจจาระมีขนาดใหญ่ขึ้นหรือเล็กลง(เหมือนมูลกระต่าย) ถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์ รู้สึกปวดหรือไม่สบายในช่องท้อง ซึ่งอาการเหล่านี้จะดีขึ้นได้ด้วยการดูแลสุขภาพที่ดี กินอาหารที่มีใยอาหารพอเหมาะและออกกำลังกายเป็นประจำ แต่ถ้าคุณมีอาการเรื้อรังหรือมีการขับถ่ายที่เปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพบว่ามีเลือดออกจากทวารหนัก หรือมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเสีย คุณควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว


ภาวะแทรกซ้อนจากอาการท้องผูก


อุจจาระอุดตัน เกิดจากการที่อุจจาระจับตัวเป็นก้อนแข็งจนไม่สามารถขับถ่ายได้
อุจจาระเล็ด เกิดจากอุจจาระไหลซึมโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นอุจจาระที่ไหลออกมาจากบริเวณรอบก้อนอุจจาระที่อุดตันนั้น
มีเลือดออกจากทวารหนัก
เกิดริดสีดวงทวารหนัก
มีการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ
ปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่มีอาการปวดเวลาขับถ่าย จึงมีความหวาดกลัวเมื่อถึงเวลาขับถ่าย
สาเหตุของการเกิดอาการท้องผูก


อาการท้องผูกเกิดได้จากสาเหตุหลายประการ ได้แก่ การกินอาหารที่มีเส้นใยน้อย ดื่มน้ำไม่เพียงพอ พฤติกรรมการกลั้นอุจจาระ การใช้ชีวิตแบบเฉื่อยชาไม่กระฉับกระเฉง การอยู่ในภาวะวิตกกังวลหรือซึมเศร้า การตั้งครรภ์ รวมถึงการใช้ยาบางอย่างก็ทำให้ท้องผูกได้ เช่น ยาต้านภาวะซึมเศร้า ยาเสริมธาตุเหล็กหรือแคลเซียม ยาแก้ปวดมอร์ฟีนหรือโคเดอีน
อาการท้องผูกยังอาจเป็นอาการแสดงของโรคบางอย่าง เช่น ริดสีดวงทวาร แผลปริที่ขอบทวาร โรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง โรคลำไส้แปรปรวน (Irritable Bowel Syndrome) ภาวะขาดธัยรอยด์ฮอร์โมน การบาดเจ็บที่กระดูกสันหลัง หรือภาวะที่มีผลกระทบต่อระบบประสาท (เช่น Parkinson, Multiple sclerosis) มะเร็งของลำไส้และทวารหนัก เป็นต้น


การตรวจวินิจฉัยอาการท้องผูก


นอกจากสอบถามประวัติอาการและตรวจร่างกายซึ่งอาจมีการตรวจทวารหนักด้วยแล้ว แพทย์อาจเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ และอาจมีการส่องกล้องตรวจทวารหนัก (Sigmoidoscopy) หรือส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) หรือสวนแป้งแบเรียมเอ็กซเรย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนัก (Barium enema X-rays) ซึ่งจะช่วยให้เห็นพยาธิสภาพภายในลำไส้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น


การรักษาอาการท้องผูก


คุณสามารถดูแลอาการท้องผูกได้ด้วยตนเองโดยการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยให้มากพอ การรับประทานผักและผลไม้ให้ได้ 5 ส่วนในแต่ละวัน ไม่เพียงช่วยรักษาอาการท้องผูก แต่ยังเป็นผลดีต่อสุขภาพโดยรวมด้วย ทั้งนี้เส้นใยอาหารยังแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ เส้นใยที่ไม่ละลายน้ำและเส้นใยที่ละลายน้ำได้ ซึ่งคุณควรรับประทานอาหารที่มีเส้นใยทั้ง 2 ประเภทให้ได้อย่างพอเหมาะและสมดุล


แหล่งอาหารที่มีเส้นใยที่ไม่ละลายน้ำ ได้แก่ ผัก ผลไม้ ธัญพืชไม่ขัดสี ข้าวกล้อง รำข้าวสาลี
แหล่งอาหารที่มีเส้นใยละลายน้ำ ได้แก่ ข้าวโอ๊ต เมล็ดถั่วต่างๆ ซึ่งสามารถลดระดับไขมันและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ด้วย


การรักษาด้วยยา


หากคุณดูแลตนเองแล้วก็ยังคงมีอาการท้องผูก แพทย์ก็อาจแนะนำให้ใช้ยาระบายซึ่งแบ่งเป็นหลายประเภท ได้แก่ ยาระบายกลุ่มเพิ่มกาก หรือ Bulk-forming laxatives เช่น Methylcellulose ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่รับประทานเส้นใยอาหารได้ไม่มาก

ยาระบายกลุ่มเพิ่มน้ำในลำไส้ หรือ Osmotic laxatives เช่น Lactulose ที่จะเพิ่มปริมาณน้ำในลำไส้ทำให้อุจจาระนุ่ม ขับถ่ายได้ง่ายขึ้น

ยาระบายกลุ่มกระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ หรือ Stimulant laxatives เช่น Bisacodyl ทำให้ลำไส้มีการบีบตัวบ่อยขึ้นและแรงขึ้น


การป้องกันอาการท้องผูก


เมื่อการขับถ่ายกลับมาเป็นปกติแล้ว คุณสามารถหยุดการใช้ยาระบาย แล้วพยายามคงนิสัยการขับถ่ายที่ดี ด้วยการรับประทานอาหารที่เหมาะสม มีความสมดุลของเส้นใยอาหารและน้ำที่เพียงพอ รวมถึงออกกำลังกายเป็นประจำสม่ำเสมอ
ขอบคุณบทความดีๆจาก : http://www.bupa.co.th