โรงพยาบาลบางระกำ + Bangrakam Hospital
055-371168 หรือ 055-371170


โรคตับแข็งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์



โรคตับแข็งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โรคตับแข็งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 
Alcohol-induced cirrhosis 
   
ภาวะตับแข็งเกิดจากเซลล์ของตับถูกแทนที่โดยเนื้อเยื่อพังผืด ทำให้ลักษณะเนื้อเยื่อตับที่ควรเรียบจะกลายเป็นก้อนและแข็งขึ้น นอกจากการดื่มแอลกอฮอล์จะทำให้เกิดโรคตับแข็งแล้ว ยังมีสาเหตุของโรคตับแข็งมีหลายอย่าง เช่น การติดเชื้อตับอักเสบชนิด B หรือชนิด C และการเป็นโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับตับบางอย่าง
การดื่มแอลกอฮอล์ที่มากเกินไปจะเริ่มทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับตับ เช่น โรคไขมันสะสมในตับ (Fatty liver disease) ซึ่งเป็นโรคตับที่ไม่รุนแรงและสามารถหายเป็นปกติได้ถ้าหยุดดื่ม แต่ถ้ายังมีการดื่มต่อเนื่องก็จะทำให้เป็นโรคที่รุนแรงขึ้น เช่น โรคตับอักเสบ หรือโรคตับแข็งซึ่งเป็นโรคตับจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่รุนแรงที่สุด
โรคตับแข็งแบ่งเป็นได้เป็นโรคตับแข็งระยะต้น (Compensated cirrhosis) และโรคตับแข็งระยะท้าย (Decompensated cirrhosis) ส่วนใหญ่ของผู้ที่มีโรคตับแข็งระยะต้นจะมีอาการน้อยหรืออาจไม่มีอาการเลย แต่ถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมก็มีแนวโน้มที่จะมีการดำเนินของโรคไปเป็นโรคตับแข็งระยะท้ายที่จะมีอาการรุนแรงและมักมีภาวะแทรกซ้อน

อาการของโรคตับแข็งที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ในระยะแรกของโรคตับแข็งอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยนอกจากผลการตรวจเลือดที่บ่งบอกความผิดปกติหรืออาจจะมีอาการต่อไปนี้



  • รู้สึกไม่สบาย เบื่ออาหาร อยากอาเจียน

  • คันตามผิวหนัง

  • น้ำหนักตัวลดลง


เมื่อโรคดำเนินต่อเนื่องอาการที่มีอาจรวมถึง:



  • สีผิวหนังและสีของตาขาวออกสีเหลืองที่เรียกว่าดีซ่าน

  • ช่องท้องและขาบวม

  • กล้ามเนื้อลีบเล็กลง

  • ปรากฏเส้นเลือดฝอยเหมือนแมงมุมบนผิวหนัง

  • ผิวหนังช้ำและมีเลือดออกง่าย

  • อาเจียนเป็นเลือดหรือมีเลือดในอุจจาระ

  • รู้สึกสับสนหรือความจำไม่ดี

  • อุณหภูมิร่างกายสูงจากการมีไข้เพราะมีการติดเชื้อ

  • การเปลี่ยนแปลงที่แสดงลักษณะทางเพศ เช่น ในผู้ชายอาจสังเกตเห็นว่าเส้นขนตามร่างกายน้อยลง ลูกอัณฑะฝ่อเล็กลง (testicular atrophy) และมีเนื้อเยื่อเต้านมมากขึ้น (gynaecomastia) ถ้าเป็นผู้หญิงอาจจะมีประจำเดือนไม่สม่ำเสมอ


ภาวะแทรกซ้อนของโรคตับแข็งที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

เนื้อเยื่อที่เป็นพังผืดจะขัดขวางการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงตับ ทำให้หลอดเลือดดำพอร์ทอลที่เชื่อมต่อระหว่างลำไส้และตับมีความดันสูงขึ้น (Portal hypertension) ความดันที่สูงนี้จึงดันเลือดที่จะไหลไปที่หัวใจให้ไหลผ่านเส้นเลือดอื่นแทนที่จะผ่านตับ เป็นผลทำให้มีการขยายของเส้นเลือดในเยื่อบุกระเพาะอาหารและหลอดอาหาร เกิดเป็นภาวะเส้นเลือดขอด (varices) ซึ่งถ้ามีเลือดออกด้วยอย่างช้าๆ ก็จะทำให้เกิดโรคโลหิตจาง และยังเป็นภาวะเสี่ยงที่จะมีเลือดออกอย่างรุนแรงที่ต้องรักษาฉุกเฉิน

โรคตับแข็งนอกจากสามารถนำไปสู่ภาวะตับวาย (Liver failure) แล้ว ยังสามารถนำไปสู่กลุ่มอาการโรคไตเนื่องจากโรคตับ (Hepatorenal syndrome) และสมองทำงานผิดปกติ (Encephalopathy) ได้ อีกทั้งยังเพิ่มโอกาสที่จะเป็นโรคมะเร็งตับด้วย

สาเหตุของการเกิดโรคตับแข็งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

โดยปกติแล้วเนื้อเยื่อตับสามารถซ่อมแซมตัวเองได้ แต่ถ้าเซลล์ได้รับความเสียหายมากเกินไปก็จะกลายเป็นเหมือนแผลเป็นที่เป็นพังผืดถาวร ส่งผลให้ตับไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ความสามารถของตับในการกำจัดสารเคมีและยาต่างๆ ออกไปจากร่างกายลดลง ซึ่งอาจทำให้เกิดสารที่เป็นสารพิษหรือสารอันตรายตกค้างอยู่ในร่างกาย

การวินิจฉัยของโรคตับแข็งที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคเกี่ยวกับตับ (Hepatologist) จะถามเกี่ยวกับอาการและอาจตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการดังต่อไปนี้



  • การตรวจเลือดรวมถึงการทดสอบการทำงานของตับ

  • การตรวจด้วยอัลตราซาวด์ หรือเอ๊กซเรย์คอมพิวเตอร์ด้วย CT scan หรือ MRI

  • การตรวจชิ้นเนื้อตับ (Liver biopsy)


การรักษาโรคตับแข็งจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

การดูแลตนเอง

แม้ว่าโรคตับแข็งจะไม่สามารถรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ แต่คุณก็สามารถป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายมากขึ้น โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการหยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งหากคุณพบว่ามันเป็นเรื่องยากที่จะหยุดดื่มก็ควรปรึกษาแพทย์

การใช้ยารักษา

แพทย์สามารถให้ยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการบางอย่างได้ ตัวอย่างเช่น ถ้าคุณมีความดันโลหิตเส้นเลือดดำพอร์ทอลสูง (Portal hypertension) คุณอาจจะได้รับยาลดความเสี่ยงของการมีเลือดออก หรือหากมีอาการบวมในช่องท้อง แพทย์อาจให้ยาขับปัสสาวะเพื่อช่วยขจัดน้ำออกไป

ศัลยกรรม

การปลูกถ่ายตับจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ที่มีภาวะตับวาย ซึ่งหากได้รับการปลูกถ่ายตับคุณต้องหยุดดื่มแอลกอฮอล์ไปตลอดชีวิต

การป้องกันโรคตับแข็งที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

วิธีที่ดีที่สุดคือการไม่ดื่มแอลกอฮอล์ หรือจำกัดปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่มโดยมีคำแนะนำดังนี้



  • ผู้หญิงไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมากกว่า 2-3 หน่วยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อวัน

  • ผู้ชายไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำมากกว่า 3-4 หน่วยของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ต่อวัน


ตัวอย่างต่อไปนี้จะช่วยให้คุณรู้ปริมาณแอลกอฮอล์ที่ดื่ม



  • น้ำผลไม้ที่มีแอลกอฮอล์ 6% ปริมาณ 1 ไพน์ (568 มิลลิลิตร) จะเทียบเท่าแอลกอฮอล์ 3.4 หน่วย

  • เบียร์ที่มีแอลกอฮอล์ 5% ปริมาณ 1 ไพน์ (568 มิลลิลิตร) จะเทียบเท่าแอลกอฮอล์ 2.8 หน่วย

  • ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 13% ปริมาณ 1 แก้วมาตรฐาน (175 มิลลิลิตร) จะเทียบเท่าแอลกอฮอล์ 2.3 หน่วย

  • ไวน์ที่มีแอลกอฮอล์ 12% ปริมาณ 1 แก้วขนาดใหญ่ (250 มิลลิลิตร) จะเทียบเท่าแอลกอฮอล์ 3 หน่วย

  • เหล้าที่มีแอลกอฮอล์ 40% ปริมาณ 1 หน่วยตวง (25 มิลลิลิตร) จะเทียบเท่าแอลกอฮอล์ 1 หน่วย