โรงพยาบาลบางระกำ + Bangrakam Hospital
055-371168 หรือ 055-371170


อาหารเช้าสำคัญแค่ไหน


 


 


ในชีวิตประจำวันของคนเรานั้น มีหลายๆ สิ่งที่คนเรามักจะมองข้ามไป เช่น อาหารเช้า 


โดยปกติ คนเราจะรับประทานอาหารวันละ 3 มื้อ แต่บางคนจะรับประทานอาหารเพียงวันละ 2 มื้อ หรือมากกว่านี้


               ในกรณีที่รับประทานอาหารเพียง 2 มื้อ มักจะงดอาหารมื้อเช้า ด้วยเหตุผลนานับประการ เช่น ต้องตื่นเช้าไปเรียน ไม่มีเวลาจะกินมื้อเช้า หรือบางคนงดอาหารเช้า เพราะต้องการลดน้ำหนัก เป็นต้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว อาหารเช้าเป็นมื้อที่สำคัญที่สุด เพราะกระเพาะอาหารของคนเรามีขนาดความจุที่จำกัดสำหรับอาหารแต่ละครั้ง โดยเฉพาะ ในเด็กวับเรียน ซึ่งมีขนาดของกระเพาะอาหารเล็กกว่าผู้ใหญ่ ในขณะที่ความต้องการพลังงาน และสารอาหารต่อหน่วยน้ำหนักมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะเป็นวัยที่ยังมีการเจริญเติบโต จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารอย่างน้อย 3 มื้อ



               โดยปกติ คนเราจะพักผ่อนด้วยการนอนหลับ วันละประมาณ 8-12 ชั่วโมง ในช่วงเวลานั้นการใช้สารอาหารต่างๆ ยังคงดำเนินไปตลอดเวลา ปริมาณสารอาหารต่างๆ โดยเฉพาะระดับนั้นตาลในเลือดจะลดลง ดังนั้น หลังจากการนอนหลับพักผ่อน จึงจำเป็นต้องรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มระดับสารอาหารในร่างกายให้อยู่ในสภาพปกติ เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการทำกิจกรรมต่อไป 


               การบริโภคอาหารมื้อเช้าถือว่าเป็นอาหารมื้อที่สำคัญที่สุด เมื่อตื่นนอนในตอนเช้า เราไม่ได้รับประทานอาหารนับจากมื้อเย็นประมาณสิบชั่วโมง หรือมากกว่า ระดับน้ำตาลในเลือดจะต่ำ เราจะรู้สึกหิว เพราะร่างกายต้องการพลังงานเพิ่ม สมองจะกระตุ้นศูนย์ควบคุมความหิวให้เราเกิดความรู้สึกหิว ซึ่งทำให้เราหิวมาก และรับประทานอาหารในมื้อถัดมาในปริมาณมากขึ้น หากเรายังไม่รับประทานอาหารเช้าอีก ร่างกายต้องไปดึงพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตที่สะสมไว้ในตับมาใช้ แต่ไม่นานนักพลังงานส่วนนี้จะถูกใช้หมดไป สุดท้ายร่างกายอาจจะปรับสมดุลโดยการลดกลไกการเผาผลาญพลังงานในร่างกายลง เพื่อสำรองไว้ใช้อย่างจำเป็น เมื่อมื้อใดเรารับประทานอาหารเข้าไปมากจะทำให้ร่างกายได้รับพลังงานมากเกินไป และพลังงานที่เกินจะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ในร่างกาย ทำให้เรามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น


               การไม่รับประทานอาหารเช้า อาจเป็นสาเหตุของการเกิด "โรคอ้วน" ได้ เพราะช่วงเวลาระหว่างมื้อเย็น กับมื้อกลางวันนั้น จะรู้สึกหิวมาก ทำให้รับประทานอาหารเป็นประเภทจุบจิบ (เช่น อาหารประเภทขนมขบเคี้ยว ขนมหวาน และน้ำอัดลม เป็นต้น) มากขึ้น โดยอาหารเหล่านี้แฝงไปด้วย เกลือ น้ำตาล และไขมันอิ่มตัวเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของเรา ทำให้อ้วนมากขึ้น และมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่นๆ ตามมาหลายอย่าง เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคข้อ และกระดูกอักเสบ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเจ็บป่วย และการตายในผู้ใหญ่


นอกจากนี้ ผลการวิจัยหลายเรื่องได้กล่าวถึงการรับประทานอาหารมื้อเช้าที่มีคุณค่า มีความสำคัญเพราะ 


   1. คนที่รับประทานอาหารเช้ามีพลังงานในการทำงานได้นานกว่า 


   2. การรับประทานอาหารเช้าทำให้ลดปริมาณการรับประทานอาหารว่าง 


   3. คนที่ไม่รับประทานอาหารเช้ามีอัตราการเผาผลาญอาหารต่ำกว่าคนที่รับประทานอาหารเช้าเป็นประจำ 


   4. เด็กที่รับประทานอาหารเช้ามีคะแนนเฉลี่ย การให้ความร่วมมือ และมีสมาธิในการเรียนดีกว่าเด็กที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า







ถ้าต้องการให้ร่างกายได้รับประโยชน์จากอาหารมากขึ้น เราควรเลือกอาหารที่มีองค์ประกอบดังนี้  


   1. คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ดีที่สุดสำหรับอาหารเช้า เพราะคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะค่อยๆ ปลดปล่อยกลูโคสให้กับสมองโดยใช้
       เวลานานขึ้นในการย่อย และดูดซึม คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน มักพบในอาหารพวก ธัญพืชที่ไม่ขัดสี และผลไม้


   2. โปรตีน มักพบในอาหารทะเล ให้กรดอะมิโน เพื่อผลิตสารสื่อข่าวสมอง และไข่ที่อุดมไปด้วยโปรตีน วิตามินบี และโคลีน ซึ่งช่วยใน
       การทำงานเกี่ยวกับความจำ แม้ไข่จะมีคอเลสเทอรอลสูง แต่ไข่วันละฟองในมื้ออาหารที่สมดุลนั้น ข้อมูลการวิจัยเปิดเผยว่าไม่เป็น
       ผลเสียใดๆ


   3. อาหารแคลเซียมสูง เช่น นม โยเกิร์ต นมถั่วเหลือง หรือธัญพืชเสริมแคลเซียม น้ำส้มเสริมแคลเซียม จะช่วยในการเผาผลาญ
       ไขมันและลดการสะสมของไขมันในร่างกาย


 


เห็น หรือยัง ว่า อาหารเช้าสำคัญต่อเรามากแค่ไหน 


 เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็อย่าลืมรับประทานอาหารเช้ากันนะ..